จะส่งเสริมการเรียนการสอนพระบาลีอย่างไร ให้เข้าถึงพระไตรปิฎก

พระมหาสมชาย คุณาลงฺกาโร

พระราชปุจฉา
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา และทรงสนพระทัยศึกษาธรรมะ อันสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสแสดงสั่งสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระไตรปิฎก อันเป็นหลักฐานการบันทึกองค์ธรรมแห่งการตรัสรู้ และการเทศนาสั่งสอนของพระพุทธองค์ จึงมีพระราชปุจฉาเผดียงถามสมเด็จพระสังฆราช และพระเถรานุเถระทั้งหลายว่า

"จะส่งเสริมการเรียนการสอนพระบาลีอย่างไรให้เข้าถึงพระไตรปิฎก"
ขอสมเด็จพระสังฆราช และพระเถรานุเถระทั้งหลายได้ถวายวิสัชนาในพระราชปุจฉานี้ด้วยเทอญ

พระราชปุจฉา

ขอถวายพระพร มหาบพิตร อาตมภาพ พระมหาสมชาย คุณาลงฺกาโร(ศรีเลิศ) นักธรรมเอก, เปรียญธรรม ๖ ประโยค พระธรรมทูตสายต่างประเทศฯ อดีตเคยเป็นสามเณร และเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อวัดท่ามะโอ  คือ พระธัมมานันทมหาเถระ อัคคมหาบัณฑิต ศิษย์สำนักเรียนวัดท่ามะโอ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ถึง ๒๕๓๒ รวม ๕ ปี และมีโอกาสได้ศึกษาหลักสูตร ๔ คัมภีร์บาลีใหญ่ คือ


๑. คัมภีร์ปทรูปสิทธิ เป็นคัมภีร์สำเร็จรูปพร้อมอุทาหรณ์ แต่ต้องท่องกัจจายนสูตรให้จบ หกร้อยกว่าสูตรก่อนจึงจะเข้าเรียนได้

๒. คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา คือเป็นคัมภีร์เกี่ยวกับศัพท์พจนานุกรมภาษาบาลี ซึ่งมีทั้งหมด หนึ่งพันกว่าคาถา

๓. คัมภีร์สุโพธาลังการ คืออรรถรสอันเป็นวัฒนธรรมทางภาษา หรือศิลปะของการแต่งภาษาบาลีให้มีอรรถรส ๙ ประการ มีสิงคารรส คือรสรักเป็นต้น และ

๔. คัมภีร์วุตโตทัย หรือภัมภีร์ฉันท์ ซึ่งเป็นการแต่งกลอนเป็นคาถาภาษาบาลีนั้นเอง มีร้อยกว่าคาถา

ซึ่งสรุปรวมแล้วเป็น ๔ คัมภีร์หลักที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง อันเป็นพื้นฐาน ของการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาบาลี ที่จะเป็นกุญแจดอกสำคัญ ในการไขเข้าไปสู่พระไตรปิฏกและเป็นต้นเหตุของการเข้าใจเนื้อหาสาระของพระบาลี ในพระไตรปิฏกได้อย่างลึกซึ้งและซาบซึ้งเป็นอย่างดีไม่มากก็น้อย ดังคำกลอนภาษาบาลีที่พระอาจารย์โมคคัลลานะประพันธ์ไว้ว่า

"สุตฺตํ ธาตุ คโณ ณฺวาที
นามลิงฺคานุสาสนํ
ยสฺส ติฏฺฐติ ชิวฺหคฺเค
สฺพยากรณเกสรี"

ซึ่งแปลความว่า

"สูตร ธาตุ ปทมาลา นามลิงค์ วินิจฉัย ครั้นตั้งอยู่บนปลายลิ้น(ทรงจำได้แบบติดปาก(วาจุคฺคต) ติดตา(อุคฺคหิต)และติดใจ (มนสา ววตฺถิต) ของผู้ใด ผู้นั้นไซร้ เป็นราชาป่าบาลี หรือมีความชำนาญในภาษาบาลี" นั้นเอง

ซึ่งอาตมภาพพร้อมด้วยศิษยานุศิษย์แห่งสำนักเรียนวัดท่ามะโอ ได้มีโอกาสเรียนจนครบทั้งสี่คัมภีร์ดังกล่าวแล้ว จึงมีสิทธิ์สอบจนสามารถสอบผ่าน ๔ หรือ ๖ คัมภีร์บาฬีใหญ่(เพิ่มพระปาติโมกข์และพระอภิธรรมพื้นฐาน) ของวัดท่ามะโอ (โสตุชนปัตติ สอบผ่านหรือสำเร็จการศึกษาและรับประกาศนียบัตรชั้นนักศึกษาของสำนักเรียนวัดท่ามะโอนั้นเอง) ฯ


ขอถวายพระพรมหาบพิตร อาตมภาพ ปัจจุบันล่วงเลยความเป็นสามเณรและจัดว่าเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งในนามพระเถรานุเถระ มีพรรษา ๓๒ แล้ว จึงขอถวายวิสัชนา ที่มหาบพิตรทรงมีพระราชปุจฉาว่า

"จะส่งเสริมการเรียนการสอนพระบาลีอย่างไร ให้เข้าถึงพระไตรปิฎก"

อาตมภาพ ขอถวายพระพรและขอถวายวิสัชนาเจาะจงตรงประเด็นเลยว่า "ชาวพุทธทุกคน จะต้องได้รับการส่งเสริมและการเรียนการสอนพระบาลี จากภาครัฐและเอกชน ที่เป็นชาวพุทธ ตั้งแต่เยาวชน หรือเยาว์วัย (ตั้งแต่ชั้นอนุบาล)จนถึงมหาวิทยาลัย แบบโบราณ(มูลกัจจายน์ หรือมูลกระจายและหรือ กัจจายนสูตร มีคัมภีร์ปทรูปสิทธิเป็นต้น)

และจะต้องส่งเสริมการเรียนการสอน แบบหลักสูตรที่หลวงพ่อวัดท่ามะโอ จ.ลำปางเคยสอนลูกศิษย์มาในอดีต ซึ่งปัจจุบัน ก็ได้มีการขยายผลการเรียนการสอนพระบาลี จากสำนักวัดท่ามะโอดังกล่าว ไปสู่สำนักลูกหลานเหลน ในปัจจุบัน อีกหลายสำนัก เช่น


สำนักเรียนวัดจากแดง จ.สมุทรปราการ ดำเนินการโดย พระเมธีวชิรโสภณ(พระมหาประนอม ธัมมาลงฺกาโร),

พระมหาประนอม ธัมมาลงฺกาโร

สำนักเรียนวัดหาดใหญ่สิตาราม จ.สงขลา ดำเนินการโดย พระราชปริยัติธาดา(พระมหาสมโภชน์ กิจฺจสาโร)

พระมหาสมโภชน์ กิจฺจสาโร

และศูนย์การศึกษาบาลีใหญ่และพระไตรปิฎก อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี ซึ่งดำเนินการเรียนการสอนโดย พระมหาสมปอง มุทิโต(กองศิลา)ฯลฯ

พระมหาสมปอง มุทิโต

ขอถวายพระพร มหาบพิตร.

บันทึกเมื่อวันพุธที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ เวลาตี ๓.๕๕ น.

ขอขอบคุณภาพจาก thebuddh.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประวัติความเป็นมาของการจัดตั้งสถาบันวิทยาตรังคิณี

เริ่มต้นจากท่านพระมหาชัยพร เขมาภิรโต เปรียญธรรม ๙ ประโยค วัดจากแดง ได้เข้าเรียนวิชาสันสกฤตในระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทย...